|
แบงก์ หนุน New Gen-SMEs
By iclick Team
ธนาคารออมสิน จับมือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ 'ชู'แพลตฟอร์มใหม่ 'หนุน' คนรุ่นใหม่ทำธุรกิจยุคใหม่ เปิดตัว หลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาธุรกิจใหม่: Entrepreneurship and New Business Development หลักสูตรการทำธุรกิจนวัตกรรมที่เรียนได้ง่าย ไม่มีข้อจำกัดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนเริ่มธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ทลักสูตรดังกล่าวมุ่งเน้นที่เนื้อหา 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.การเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ 2. การหาแนวคิดธุรกิจใหม่ 3. การออกแบบธุรกิจใหม่ และ 4. การเริ่มต้นและขยายธุรกิจ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ด้านแบงก์กรุงศรี นำทัพทีมงาน เดินหน้า Make Life Simple with 3P ส่งมอบความง่าย อันเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานของกรุงศรี ผ่าน 3P เริ่มจาก Portfolio, Products และ Platform ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า SME
นายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Start up เปิดเผยกับ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ไอคลิกนิวส์ดอทคอม www.iclicknews.com ว่า ธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA ได้ดำเนินการในเรื่องการพัฒนาและยกระดับระบบนิเวศน์วิสาหกิจเริ่มต้นและสร้างผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง ศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับธุรกิจและในระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นความสำคัญของการพัฒนาแฟลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยตนเองด้านนวัตกรรมร่วมกันกับ NIA ตามแนวคิด Life Long Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต คาดว่าหลักสูตรนี้จะมีคนเข้าอบรม 30,000 คน สามารถประเมินผลได้ เมื่อผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้แล้ว เราจะมีการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ไม่เกิน 2 แสนบาท อยู่ที่ขนาดของธุรกิจ เล็กๆ พ่อค้าแม่ค้า แฟรนไชส์ หรือมีกิจการแล้วมาต่อยอด สร้างงานสร้างอาชีพ โดยมีบสย.ค้ำประกันหลักทรัพย์ให้
โดยเป็นหลักสูตรเสริมสร้างทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการเป็นผู้ประกอบการ ให้สามารถพัฒนาตนเอง และนำไอเดียไปสู่การสร้างธุรกิจเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านหัวข้อการเรียนรู้ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. การเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ 2. การหาแนวคิดธุรกิจใหม่ 3. การออกแบบธุรกิจใหม่ และ 4. การเริ่มต้นและขยายธุรกิจ โดยเป็นการเรียนรู้ที่ประกอบไปด้วยส่วนแนวคิดเชิงทฤษฎีจากอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำ เรียนรู้ไปพร้อมกับกรณีศึกษาจากธุรกิจชั้นนำของประเทศ ซึ่งข้อดีของหลักสูตรและแพลตฟอร์มดังกล่าวคือ นำแนวทางจากผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้นวัตกรรมจริง และให้ความรู้โดยผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจ เปรียบเสมือนโค้ชที่จะคอยช่วยแนะนำการทำธุรกิจให้ไปได้อย่างถูกทาง
การเรียนรู้ทั้ง 4 กลุ่มหัวข้อนับว่าเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับการจะเป็นผู้ประกอบการ - การจัดตั้งธุรกิจ โดย NIA และธนาคารออมสินได้คัดเลือก ธุรกิจนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นในแต่ละมิติมาเป็นแนวทางในการให้ความรู้แก่ผู้ที่เรียนบนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น บริษัท "Yell Advertising เอเจนซีสัญชาติไทยที่มีผลงานสร้างแบรนด์ขนาดใหญ่มากมาย รวมถึง"Shinkanzen Sushi" ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นพันล้านที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ที่จะเป็นบทเรียนในด้านคุณลักษณะเบื้องต้นของการเป็นผู้ประกอบการ และการปรับ Mindset ในหัวข้อการเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ ส่วนของการหาแนวคิดธุรกิจใหม่ จะมีการนำแนวทางทั้งการหาไอเดียทำธุรกิจจาก "Lineman Wongnai" การทำความเข้าใจกับโอกาสทางการประกอบการ จากแบรนด์สุกี้ ชาบูที่เป็นที่นิยมอย่าง "MO-MO-Paradise" รวมถึงแนวทางการนำเสนอคุณค่าให้กับ Business Model
โดยมีตัวอย่างเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลกและ "กาแฟพันธุ์ไทย" ด้านการออกแบบธุรกิจใหม่ จะมุ่งเน้นแนวทางการวางโครงสร้างพื้นฐานบัญชีสําหรับธุรกิจใหม่ จากสตาร์ทอัพด้านการบัญชีอย่าง "PEAK account" ที่จะให้ความรู้ทั้งด้านการบัญชี และการดำเนินงานแบบบริษัทที่เป็นสตาร์ทอัพ การออกแบบองค์ประกอบของการสร้างตราสินค้าที่จะนำไปสู่การสร้าง Brand Loyalty และหัวข้อสุดท้ายการเริ่มต้นและขยายธุรกิจ จะมีการให้ความรู้ทั้งสิ่งที่ต้องระวังในช่วงที่เริ่มต้นธุรกิจจาก เมเจอร์ ซินีเพล็กซ์ การทำความเข้าใจทางเลือกที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา โดยหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก "ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป" และธุรกิจตามแนวคิด BCG โดย "K Fresh" ผู้ที่นำพาผลไม้ไทยสู่การแข่งขันในเวทีระดับโลก
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy มุ่งจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อใช้ฝึกอบรมและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม ทั้งกลุ่มที่เป็นสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีที่อยากจะปรับเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมในการประกอบกิจการ หรือ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีความประสงค์ต้องการนำนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจะมีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการนวัตกรรมในภูมิภาคมียอดขายที่เติบโตขึ้น จนเกิดผลกระทบเชิงบวกในทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
จากการประเมินผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พบว่าหลักสูตรต่าง ๆ ของสถาบันฯ เช่น STEAM4INNOVATOR (สำหรับเยาวชน) SPACE-F (สำหรับผู้ประกอบการ/สตาร์ทอัพ) SME TO IBE (สำหรับองค์กร) PPCIL (สำหรับผู้บริหาร) ฯลฯ สามารถสร้างผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายได้ถึง 5 ระดับ ตั้งแต่การจุดประกายความคิด การพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม การเชื่อมต่อกับเครือข่ายเพื่อการพัฒนางาน การสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง และการสร้างผลกระทบต่อเนื่องสู่สังคมและชุมชน
การประกอบธุรกิจในปัจจุบัน มีบริบทของการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ลักษณะ พฤติกรรม และกรอบแนวคิดของผู้ประกอบการ หรืออาจเรียกว่า ภาวะผู้ประกอบการ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวทางธุรกิจ NIA Academy จึงได้ร่วมกับธนาคารออมสินจัดทำ หลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาธุรกิจใหม่ : Entrepreneurship and New Business Development ซึ่งเป็นการเรียนรู้บนแพลตฟอร์ม MOOCS หนึ่งในนวัตกรรมเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ซึ่งจะประกอบไปด้วยบทเรียนออนไลน์ 10 วิชา กับอีก 10 กรณีศึกษาจากนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จ และเป็นหลักสูตรที่สามารถรองรับผู้เรียนได้จำนวนมาก ไม่มีการจำกัดเพศและวัยที่จะเข้าศึกษา ทุกคนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา สามารถเรียนซ้ำได้ ไม่จำกัดระยะเวลาในการเรียน และมีใบรับรองให้เมื่อเรียนจบ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้ แก้ไขปัญหาจากตัวอย่างที่ศึกษาได้ อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มรูปแบบการเรียนรู้ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงให้กับประชากรทั่วโลก
โดย NIA หวังว่า หลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาธุรกิจใหม่ จะช่วยเสริมสร้างแนวคิดและการเปลี่ยนแปลงธุรกิจโดยมีนวัตกรรมเป็นหัวใจของการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ และนำไปใช้ เพราะการศึกษาไม่ว่าจะเรียนในแพลตฟอร์มใด ก็ยังคงมุ่งเน้นให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติได้จริง อีกทั้งยังเป็นการสร้างเสริมโอกาสดีๆ สร้างความรู้ ให้ผู้ประกอบการไทยในการนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง คาดว่าผู้สนใจเข้ารับการอบรมจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ รับรู้ เข้าใจ และนำนวัตกรรมไปปรับใช้และเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้กลายเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" ดร.กริชผกา กล่าว หลักสูตรดังกล่าวจะใช้เวลาในการเรียนเฉลี่ยบทเรียนละ 40 นาที จำนวนทั้งสิ้น 10 บทเรียน ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าเรียนได้ที่ moocs.nia.or.th/gsb ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขับเคลื่อน SMEs
ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ นิตยสาร ไอคลิกแมก www.iclickmag.com ว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านมาตรการเชิงรุกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเดินหน้าสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ SME ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแบบครบวงจร พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อแบ่งปันความรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ ที่สำคัญเรายังคงเดินหน้าเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสในการขยายธุรกิจผ่านเครือข่าย MUFG ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผ่านมา กรุงศรีสามารถบรรลุเป้าหมายสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME โดยในปี 2565 สินเชื่อธุรกิจ SME เติบโต 5.4% และมียอดสินเชื่ออยู่ที่ 296,000 ล้านบาท ทิศทางการดำเนินงานและกลยุทธ์ในปี 2566 นี้ กรุงศรีพร้อมช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ SME ไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ Make Life Simple with 3P ส่งมอบความง่าย อันเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานของกรุงศรี ผ่าน 3P ได้แก่ Portfolio, Products และ Platform ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า SME ?ให้เติบโตทันกระแส และให้การทำธุรกรรมสะดวกรวดเร็ว เพื่อให้ลูกค้าสามารถคว้าโอกาสและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของตนเอง
ปีนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจ SME อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยท้าทายที่ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่าน สิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจคือ การเรียนรู้ที่จะปรับตัวและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดอยู่เสมอ ซึ่งกรุงศรีพร้อมยืนหยัดเคียงข้างผู้ประกอบการ SME ไทย ในการสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพในการปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภค และกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจ SME ให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป โดยเรายังคงตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจ SME อยู่ที่ 4% สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้
ปีที่ผ่านมากรุงศรีได้ดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านมาตรการเชิงรุกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเดินหน้าสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ SME ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแบบครบวงจร พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อแบ่งปันความรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ ที่สำคัญเรายังคงเดินหน้าเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสในการขยายธุรกิจผ่านเครือข่าย MUFG ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผ่านมา กรุงศรีสามารถบรรลุเป้าหมายสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME โดยในปี 2565 สินเชื่อธุรกิจ SME เติบโต 5.4% และมียอดสินเชื่ออยู่ที่ 296,000 ล้านบาท
ช่วงนี้หลายแบงก์ขับเคลื่อนเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพเต็มพิกัด หวังดันให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้แจ้งเกิดในวงการธุรกิจระดับเอเชียและโลก
|
|